คำถาม-คำตอบที่พบบ่อย
เรื่อง “ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น1)”
“Influenza A (H1N1)”
สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ข้อมูล ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2552 เวลา 8.00 น.
ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น1)
สถานการณ์การระบาดและความรุนแรงของโรค
ระดับเตือนภัยการระบาดของโรค
ยาต้านไวรัส
วัคซีนป้องกันโรค
หน้ากากอนามัย
คำแนะนำสำหรับประชาชน
คำแนะนำสำหรับสถานศึกษา สถานประกอบการ และสถานที่ทำงาน
คำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่
มาตรการการป้องกันควบคุมโรค
*****************************************
ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น)
1. ไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาดตามข่าวอยู่ในขณะนี้คือโรคอะไร ?
โรคที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน ไม่พบว่ามีการติดต่อมาจากสุกร เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 (A/H1N1) ซึ่งเป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยพบทั้งในสุกรและในคน เป็นเชื้อที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ซึ่งมีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่คน ไข้หวัดใหญ่สุกร และไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกด้วย เริ่มพบการระบาดที่ประเทศเม็กซิโก และแพร่ไปกับผู้เดินทางไปในอีกหลายประเทศ ระยะแรก กระทรวงสาธารณสุขใช้ชื่อโรคนี้ว่า “โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก” และเมื่อองค์การอนามัยโลกได้ประกาศชื่อเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1” และใช้ชื่อย่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009”
2. เหตุใดจึงไม่ใช้คำว่าไข้หวัดสุกร (Swine flu) เหมือนชื่อที่ใช้เรียกในระยะแรกของการระบาด ?
เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ใหม่ ในการรายงานโรคนี้ช่วงแรกในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Swine Flu” หรือไข้หวัดใหญ่สุกร โดยปกติแล้ว ไข้หวัดใหญ่สุกรเป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นในสุกร มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หลายชนิด เช่น H1N1, H1N2, H3N1 และ H3N2 แต่ละชนิดมีหลากหลายสายพันธุ์ ตามปกติการเกิดโรคในสุกร บางครั้งอาจมีผู้ติดเชื้อจากสุกรและป่วยซึ่งเกิดไม่บ่อยนัก การติดเชื้อเกิดโดยคนหายใจเอาละอองฝอยเมื่อสุกรไอ หรือจาม เข้าไป หรือการสัมผัสกับสุกร หรือสิ่งแวดล้อมที่สุกรอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตามเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโกนี้ ผลการตรวจวิเคราะห์ในระดับพันธุกรรมพบว่า เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่พบในคน และยังไม่เคยพบในสุกรมาก่อน และการระบาดดังกล่าว ไม่มีรายงานโรคนี้ระบาดในสุกรทั้งในเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา และผลการสอบสวนโรค ไม่พบผู้ใดติดโรคจากสุกร หากแต่เป็นการแพร่กระจายโรคจากคนสู่คนเท่านั้น
ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2552 องค์การอนามัยโลกได้เปลี่ยนการเรียกชื่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากที่เคยเรียกว่า ไข้หวัดสุกร หรือ สไวน์ ฟลู (Swine Flu) เป็น “ไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1” (Influenza A H1N1) ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขไทยจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1” และชื่อย่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” เพื่อให้สอดคล้องกันและสื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจตรงกัน ไม่สับสนกับไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 ที่เกิดตามฤดูกาล ซึ่งเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่คนละตัวกัน
3. คนติดโรคนี้ได้อย่างไร ?
คนส่วนใหญ่ติดโรคไข้หวัดใหญ่จากการถูกละอองฝอยไอจาม น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยโดยตรง บางรายอาจได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ลูกบิดประตู โทรศัพท์ แก้วน้ำ เป็นต้น ไม่มีรายงานการติดต่อจากการรับประทานเนื้อหมู
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1 – 3 วัน น้อยรายที่นานถึง 7 วัน และอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย ช่วง 3 วันแรกจะแพร่เชื้อได้มากที่สุด และระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วัน แต่ในเด็กเล็ก อาจแพร่เชื้อได้นานถึง 10 วัน
องค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ได้เผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 พ.ค.52 ว่า มีรายงานสุกรติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 นี้จากคน และพบการระบาดของโรคนี้ในสุกรแล้วในประเทศแคนาดา
5. การรับประทานเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากหมู จะติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้หรือไม่ ?
ประชาชนสามารถบริโภคเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากหมูที่ปรุงสุกนั้นปลอดภัย เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะถูกทำลาย (inactivate) ได้ด้วยความร้อนจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ ไม่ควรนำหมูที่ป่วยหรือตายมาประกอบอาหาร
6. อาการของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีอะไรบ้าง ?
อาการใกล้เคียงกับอาการโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบตามปกติ เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 95 อาการไม่รุนแรง สามารถหายป่วยได้ โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ผู้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ ภาวะอ้วน และหญิงมีครรภ์
7. โรคนี้รักษาได้หรือไม่ อย่างไร ?
เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 95 อาการไม่รุนแรง สามารถหายป่วยได้เองหรือการรับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ดังนั้น ผู้ที่อาการไม่มาก เช่น ไข้ต่ำๆ รับประทานอาหารได้ อาจไปพบแพทย์ที่คลินิก หรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และดูแลรักษาที่บ้านได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก หอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อพิจารณาการให้ยาต้านไวรัสหรือรับไว้รักษาตัวที่โรงพยาบาล
8. จะป้องกันตนเองจากโรคนี้ได้อย่างไร ?
ท่านสามารถป้องกันตนเองจากโรคนี้ได้ง่าย โดยหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หากต้องดูแลผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัยและให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยด้วย หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการไอ จาม ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงบุหรี่และสุรา
สถานการณ์การระบาดและความรุนแรงของโรค
9. สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น1) ขณะนี้เป็นอย่างไร
ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นมา ประเทศเม็กซิโกเริ่มพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยปอดบวมสูงขึ้นผิดปกติ จากนั้น จึงเริ่มมีการส่งตัวอย่างจากผู้ป่วยตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552 (ตามเวลาประเทศไทย) พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น1) จำนวน 29,669 ราย ใน 74 ประเทศ และพบผู้เสียชีวิตแล้ว 145 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย ประมาณร้อยละ 0.49 ขณะนี้ยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่องและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ รายชื่อประเทศที่พบผู้ป่วย และรายงานสถานการณ์โรครายวัน ท่านสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th
10. พบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้มีในประเทศไทยหรือไม่ ?
จากการเฝ้าระวังโรค ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2552-ปัจจุบัน (15 มิถุนายน 2552) ไทยพบผู้ป่วยที่ตรวจยืนยันว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น1) จำนวน 201 ราย ซึ่งจำแนกเป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศจำนวน 30 ราย และผู้ที่ติดเชื้อภายในประเทศ 171 ราย โดยขณะนี้ มีการระบาดของโรคในกรุงเทพมหานคร ชลบุรี ปทุมธานี ซึ่งมีการระบาดในโรงเรียนและสถานบันเทิงในแหล่งท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ผู้ป่วยทั้งหมดมีอาการไม่รุนแรง ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ได้รับการติดตามเฝ้าสังเกตอาการจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างใกล้ชิด บางรายมีอาการป่วยแต่ไม่มีอาการรุนแรงและได้รับการดูแลรักษาแล้ว
11. แนวโน้มการระบาดของโรคเป็นอย่างไร
องค์การอนามัยโลกชี้ว่า โอกาสที่จะควบคุมการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ให้จำกัดอยู่ในประเทศที่เป็นต้นเหตุได้ผ่านเลยไปแล้ว และการระบาดมีแนวโน้มกระจายกว้างขวางต่อไป จนเป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic)ไปทั่วโลก เมื่อเวลาผ่านไปเชื้อจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้การระบาดมีความรุนแรงน้อยลงหรือมากขึ้น ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ แต่จากประสบการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา มักมีการระบาดระลอกหลังตามมาอีก และมีความรุนแรงของโรคมากกว่าระลอกแรก
12. กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์แนวโน้มการระบาดในประเทศไทยอย่างไร
เมื่อพิจารณาสถานการณ์การระบาดทั้งในและนอกประเทศ ลักษณะธรรมชาติของโรค ร่วมกับสภาวะแวดล้อมและศักยภาพในประเทศ จึงควรจัดแบ่งสถานการณ์การระบาดในประเทศเป็น 3 ระยะต่อเนื่องกัน ดังนี้
สถานการณ์ A มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากต่างประเทศและเดินทางเข้ามาในประเทศ
สถานการณ์ B มีการแพร่ระบาดในประเทศในวงจำกัด
สถานการณ์ C มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางภายในประเทศ
ในระยะที่ผ่านมา ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ถึง ต้นเดือนมิถุนายน 2552 ประเทศไทยได้ทำการคัดกรองผู้เดินทางระหว่างประเทศ (สถานการณ์ A ) และยืนหยัดสกัดการแพร่เชื้อในประเทศได้นานกว่า 6 สัปดาห์ ซึ่งนับว่านานกว่าประเทศอื่นๆอีกจำนวนมาก แต่ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ในขณะนี้ประเทศไทยเริ่มมีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ภายในประเทศแล้ว (สถานการณ์ B ) และ การระบาดภายในประเทศอาจจะขยายวงกว้างต่อไป (สถานการณ์ C ) เช่นเดียวกับการระบาดในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม หากความร่วมมือด้านการป้องกัน และควบคุมโรคจากทุกฝ่าย รวมทั้งประชาชน มีความเข้มแข็ง ไทยก็จะสามารถผ่านวิกฤตการณ์ไปได้ และมีความสูญเสีย หรือผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมน้อยที่สุด
13. หากเกิดการระบาดในวงกว้าง จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง
การระบาดของโรคในอดีตที่ผ่านมา จะมีผลกระทบทางด้านสุขภาพของประชาชน อาจมีผู้ป่วยในประเทศ 10-40%ของประชากรไทย (ประมาณ 6.5 – 26 ล้านคน) และอาจมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากได้ นอกจากนี้ จะมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม อีกมาก เช่น ทางด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจ ชีวิตประจำวันของประชาชน
14. กระทรวงสาธารณสุขมีการปกปิดหรือบิดเบือนข้อมูลเรื่องการระบาดของโรคหรือไม่ อย่างไร ?
กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและมีส่วนร่วมในการป้องกันควบคุมโรคมิให้แพร่กระจายออกไป ในการให้ข้อมูลใดอย่างเป็นทางการนั้น อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการตรวจสอบความถูกต้อง หรือบางครั้งจำเป็นต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบคอบ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ข้อมูลบางส่วน ที่การเปิดเผยต่อสาธารณชน ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด และอาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เช่น รายละเอียดส่วนตัวของผู้ป่วยในส่วนที่ไม่จำเป็นในการป้องกันควบคุมโรค อาจมิได้มีการเปิดเผย เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยประกอบกับต้องคำนึงถึงสิทธิผู้ป่วยร่วมด้วย
15. เหตุใดตัวเลขจำนวนผู้ป่วยของไทยที่รายงานโดยองค์การอนามัยโลกจึงน้อยกว่าจำนวนผู้ป่วยที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ ?
ในการรายงานตัวเลขผู้ป่วยอย่างเป็นทางการให้องค์การอนามัยโลกทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 100 รายแรก เพื่อให้ทราบองค์ความรู้ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ จะต้องกรอกแบบฟอร์มรายงานเป็นรายบุคคล และมีข้อมูลในรายละเอียด รวมทั้งข้อมูลบางอย่างต้องรอเวลาหรือทราบผลก่อนจึงจะกรอกได้ เช่น ผลการรักษาผู้ป่วย จะต้องรอเวลาให้ผู้ป่วยหายหรือได้ยาครบก่อน จึงจะรายงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะหลังที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มก้อนอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ตัวเลขที่องค์การอนามัยโลกรายงานน้อยกว่าจำนวนผู้ป่วยที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศในทันทีทันใด
ระดับเตือนภัยการระบาดของโรค
16. ระดับเตือนภัยการระบาดของโรคคืออะไร
องค์การอนามัยโลกได้มีการกำหนดระดับเตือนภัยการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ เมื่อปี 2005 เพื่อแสดงถึงขั้นตอนของการระบาดของโรคเริ่มตั้งแต่การพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในสัตว์ จนเริ่มแพร่เชื้อมาสู่คน และมีการกระจายออกไป จนกระทั่งระบาดไปทั่วโลก ซึ่งในขณะนั้น เป็นที่คาดกันว่า เชื้อไวรัสที่จะเป็นต้นเหตุของการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ จะมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 แต่เมื่อในปัจจุบัน เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 เป็นต้นเหตุ และมีการระบาดเกิดขึ้น องค์การอนามัยโลกจึงได้ปรับปรุงคำจำกัดความของแต่ละระดับการระบาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้นในปี 2009 เพื่อให้ง่ายต่อการกำหนดทิศทางการดำเนินงานป้องกัน ควบคุมโรค รวมทั้งมาตรการต่างๆ และมีความเข้าใจตรงกันทั่วโลก
17. ระดับเตือนภัยการระบาดของโรคมีกี่ระดับ มีหมายความว่าอย่างไรบ้าง ?
องค์การอนามัยโลกได้กำหนด ระดับเตือนภัยการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (ฉบับปรับปรุง ปี 2009) จำนวน 6 ระดับ ดังนี้
ระดับ 1 :พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในสัตว์
ระดับ 2 : เกิดการติดเชื้อเกิดขึ้นในคน
ระดับ 3 : พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มเล็ก การติดต่อระหว่างคนสู่คนอยู่ในวงจำกัด
ระดับ 4 : เกิดการระบาดในระดับชุมชน
ระดับ 5 : มีการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในอย่างน้อย 2 ประเทศในภูมิภาคเดียวกันขององค์การอนามัยโลก
ระดับ 6 : มีการระบาดมากกว่า 1 ภูมิภาคขององค์การอนามัยโลก
18. สถานการณ์ขณะนี้ เราอยู่ในระดับเตือนภัยการระบาดที่เท่าไร ?
วันที่ 12 มิถุนายน 2552 (ตามเวลาในประเทศไทย) พญ.มากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศยกระดับเตือนภัยการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ จากระดับ 5 เป็นระดับ 6 ซึ่งหมายถึง การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1) เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลกแล้วโดยมีการติดต่อจากคนสู่คน ณ ขณะนี้ มีผู้ป่วยยืนยันโรคนี้ มากกว่า 30,000 ราย ใน 74 ประเทศทั่วโลก
19. การอยู่ในระดับการระบาดที่ 6 จะต้องทำอย่างไร
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศต่างๆ เตรียมรับมือกับการที่จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ ส่วนประเทศที่มีการระบาดของโรคอย่างกว้างขวางไปแล้ว ควรเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดของโรคระลอกที่สอง โดยควรเน้นหนักในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม สำหรับการชันสูตรทางห้องปฏิบัติการและการสอบสวนโรคสำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดในวงกว้างแล้ว ควรลดความสำคัญลง เพราะประโยชน์ที่ได้อาจไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรที่ต้องทุ่มเทลงไป
ขณะนี้องค์การอนามัยโลกกำลังประสานกับผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคนี้ อย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่า จะพยายามให้มีปริมาณวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ให้มากที่สุด ภายในเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ส่วนในระหว่างที่รอการผลิตวัคซีนนั้น ขอให้ใช้มาตรการด้านสาธารณสุขและชุมชนหรือมาตรการที่ไม่ใช้ยา/เวชภัณฑ์ (Non-pharmaceutical Intervention) เช่น การส่งเสริมสุขอนามัยส่วนบุคคล การจำกัดการชุมนุม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อร่วมด้วย ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ยังคงแนะนำว่า ไม่ควรจำกัดการเดินทางหรือปิดพรมแดน
ยาต้านไวรัส
20. มียาชนิดใดบ้างที่สามารถรักษาโรคนี้ได้ ?
ยาต้านไวรัสซึ่งใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่นี้ได้ผล คือ ยาโอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) เป็นยาชนิดกิน และยา zanamivir เป็นยาชนิดพ่น แต่ผลการตรวจเชื้อไวรัสนี้พบว่าเชื้อนี้ดื้อต่อยาต้านไวรัส amantadine และ rimantadine ยาต้านไวรัส oseltamivir จะให้ผลรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ดีที่สุด ถ้าผู้ป่วยได้รับยาเร็วภายใน 2 วันนับตั้งแต่เริ่มมีไข้
21. ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ในไทย ขณะนี้มีพอเพียงหรือไม่ ?
เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 95 อาการไม่รุนแรง สามารถหายป่วยได้เองหรือการรับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหรือได้ยาต้านไวรัส ประเทศไทยจึงมีความมั่นใจได้ว่า ได้สำรองยานี้ไว้พอเพียงสำหรับสถานการณ์ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้สำรองยาพร้อมใช้ทั่วประเทศจำนวน 420,000 ชุด (สำหรับผู้ป่วย420,000 ราย) โดยองค์การเภสัชกรรมได้สำรองวัตถุดิบสำหรับผลิตเพิ่มอีก 1 แสนชุด (สำหรับผู้ป่วย 100,000 ราย)
22. หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานภาคเอกชน จำเป็นต้องสำรองยาต้านไวรัสหรือไม่ อย่างไร ?
ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ใช้ในขณะนี้คือ โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) โดยใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาและป้องกันโรค ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการสำรองยาต้านไวรัส เพื่อเตรียมพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ และเพื่อขยายปริมาณสำรองยาต้านไวรัสของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวถือเป็นยาควบคุมพิเศษ เนื่องจากต้องติดตามการดื้อยาและอาการอันไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ให้ใช้เฉพาะในสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน และแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยา สถานประกอบการสามารถสำรองหรือบริจาคยาผ่านโรงพยาบาลเอกชนที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความเห็นชอบ โดยผู้นำเข้าติดต่อส่งหลักฐานการนำเข้าให้กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และโรงพยาบาลเป็นผู้ดูแลควบคุมการใช้ยาอย่างเข้มงวดตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งรายงานการใช้ยาต่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการใช้ไม่ถูกต้องและป้องกันการดื้อยาจากการใช้อย่างกว้างขวางโดยไม่จำเป็น ในระยะการระบาดใหญ่ หากยาไม่เพียงพอ รัฐอาจขอความร่วมมือในการสำรองยาไว้เพื่อรักษาในโรงพยาบาลเป็นอันดับแรก
หมายเหตุ : องค์กรใดต้องการสำรองยาต้านไวรัส สามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญาขององค์กรนั้นๆ ทั้งนี้โรงพยาบาลเอกชนสามารถขอรายละเอียดการดำเนินงานได้ที่ กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0 2590 7000
23. ก่อนเดินทางไปในพื้นที่ระบาดหรืออยู่ในพื้นที่การระบาดของโรค จะต้องรับประทานยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ เพื่อการป้องกันหรือไม่ ?
ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เป็นยาควบคุมพิเศษ ใช้เพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของแพทย์ โดยต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจน สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปพื้นที่ระบาดหรือประชาชนทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่การระบาด กระทรวงสาธารณสุข ไม่แนะนำให้รับประทานยาเพื่อป้องกัน หรือนำติดตัวไปรับประทานเอง เนื่องจากยาดังกล่าวอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดศรีษะ บางรายอาจพบอาการทางจิตประสาทเป็นภาพหลอนได้ กรณีเป็นหญิงตั้งครรภ์ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ หากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ปวดเมื่อยตามร่างกาย ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์ในพื้นที่ทันที เพื่อพิจารณาการให้ยาต้านไวรัส ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ต่อไป
24. นักท่องเที่ยวจะสามารถนำยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เข้ามารับประทานเองในประเทศไทยได้หรือไม่ ?
ประเทศไทยอนุญาตให้นักท่องเที่ยวนำยาโอเซลทามิเวียร์ติดตัวมาจากต่างประเทศเพื่อใช้เป็นการเฉพาะตัวได้ไม่เกินคนละ 10 แคปซูล โดยไม่ต้องนำใบสั่งยาของแพทย์มาแสดงที่ด่านควบคุมยาที่สนามบิน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยาชนิดนี้ มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่เฉพาะเจาะจงและอาจมีผลข้างเคียงจากยาได้ ดังนั้น จึงขอแนะนำให้การรับประทานยา ควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์
25. กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการสนับสนุนยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้กับสถานพยาบาล อย่างไร ?
วัคซีนป้องกันโรค
26. มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้หรือไม่ ?
ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แต่องค์การอนามัยโลกได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทผู้ผลิต เร่งการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ดังกล่าว ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือนในการผลิต ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่ผลิตใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานว่า จะสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ได้
27. ไทยจะมีโอกาสใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้หรือไม่ ?
กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมสั่งจองวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ไว้ 2 ล้านชุด ซึ่งคาดว่าจะมีการผลิตได้ในอีก 4 เดือนนี้ และจะส่งถึงไทยประมาณเดือนมีนาคม 2553
28. ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลหรือไม่ ?
ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจะป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
หน้ากากอนามัย
29. หน้ากากอนามัยใช้ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดได้หรือไม่ ?
เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ สามารถแพร่ติดต่อกันได้ง่ายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง จากการถูกละอองฝอยไอจาม น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยโดยตรง หรือบางรายอาจได้รับเชื้อผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู ราวบันได วิธีที่จะช่วยป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ววิธีหนึ่ง คือการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วยเป็นไข้ หรือ ไอ จาม เพราะหากผู้ป่วยไม่สวมหน้ากากอนามัย ขณะที่ไอหรือจาม จะสามารถแพร่เชื้อออกไปได้ไกล 1-5 เมตร ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดมีโอกาสรับเชื้อและป่วยเป็นโรคได้ จากผลการวิจัยขององค์การอนามัยโลก พบว่าการใส่หน้ากากอนามัยสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อที่ติดมากับละอองฝอย ได้ถึงร้อยละ 80 ดังนั้น หน้ากากอนามัย จึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้เป็นอย่างดี
นอกจากการใช้หน้ากากอนามัยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโรคแล้ว ประชาชนยังต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามสุขอนามัยด้วย เช่น รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ฯลฯ จึงจะเป็นการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ
หน้ากากอนามัยทั่วไปใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไอหรือจาม เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อได้ ส่วนบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานกับผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรง ควรใช้หน้ากากอนามัยชนิดพิเศษ ตามข้อแนะนำทางการแพทย์
30. เมื่อใดต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ?
ควรใส่หน้ากากอนามัยเมื่อท่านมีอาการป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ มีอาการไอ จาม มีน้ำมูก และต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในที่สาธารณะ เช่น รถโดยสารประจำทาง ห้องเรียน ห้องทำงาน ศูนย์การค้า โรงพยาบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในห้องปรับอากาศ ทั้งนี้ การอยู่ลำพังผู้เดียว ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย
31. วิธีการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง ทำอย่างไร ?
เริ่มต้นที่ล้างมือให้สะอาดก่อนสวมใส่ สวมหน้ากากอนามัยให้คลุมทั้งจมูกและปาก โดยเอาด้านที่มีลวดไว้เป็นด้านบน หันเอาด้านที่กันน้ำได้ซึ่งมักมีสีเขียว หรือมีลักษณะมันวาวออกข้างนอก (ด้านที่ซับน้ำได้ดีซึ่งมักเป็นสีขาว ไว้ข้างใน เพื่อซึมซับละอองฝอยจากการไอจามได้ดี) แล้วดัดลวดให้แนบกับจมูกและใบหน้าของผู้สวมใส่
32. จะต้องเปลี่ยนหน้ากากอนามัยบ่อยแค่ไหน ?
หน้ากากอนามัยที่ทำจากกระดาษ ควรเปลี่ยนวันละครั้ง และทิ้งหน้ากากที่ใช้แล้วในถังที่มีฝาปิด ส่วนหน้ากากที่ทำด้วยผ้า สามารถซักด้วยน้ำและผงซักฟอก ผึ่งแดด แล้วนำกลับมาใช้ได้อีก แต่หากหน้ากากชำรุดหรือเปรอะเปื้อนควรเปลี่ยนใช้อันใหม่
33. หากต้องการจะทำหน้ากากอนามัยใช้เองได้หรือไม่ มีวิธีทำอย่างไร
ท่านสามารถทำหน้ากากอนามัยใช้เองได้ด้วยวิธีการทำที่ง่าย ด้วยการนำผ้าฝ้าย ผ้ายืด หรือผ้าสาลูเนื้อแน่น มาตัดเย็บเอง ติดตามรายละเอียดขั้นตอนการทำได้ที่เว็บไซต์ของสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค http://beid.ddc.moph.go.th
คำแนะนำสำหรับประชาชน
34. หากจำเป็นต้องเดินทางไปยังต่างประเทศที่มีการระบาดของโรค จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ?
1. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ชุมนุมชนที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เนื่องจากมีโอกาสรับหรือแพร่กระจายเชื้อได้มาก หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการรับเชื้อ
2. ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือปอดบวม
3. ปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดี รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ
4. หากท่านมีอาการป่วย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ปวดตามเมื่อยตามร่างกาย ให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่โรคไปยังผู้อื่น และรีบไปพบแพทย์
5. ปฏิบัติตาม คำแนะนำของรัฐบาลประเทศที่ท่านจะเดินทางไปอย่างเคร่งครัด
35. ประชาชนทั่วไปควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง ?
คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่
36. หากท่านมีอาการป่วย สามารถรับการรักษาที่ใดบ้าง ?
ผู้ป่วยที่สงสัยว่า อาจติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ สามารถเข้ารับการตรวจรักษา หรือรับคำปรึกษาได้ที่สถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีความพร้อมที่จะดูแลรักษาท่านและส่งต่อผู้ป่วยตามระบบหากจำเป็น แต่หากท่านมีอาการป่วยเล็กน้อย อาจขอรับคำแนะนำและรับยาจากเภสัชกร และรักษาตัวที่บ้าน
37. หากชาวต่างชาติในประเทศไทย มีอาการป่วย หรือสงสัยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จะได้รับการดูแลรักษาอย่างไร ?
ชาวต่างชาติ ที่อยู่ในประเทศไทย รวมทั้งนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาในประเทศไทย จะได้รับการดูแลรักษาพยาบาล เช่นเดียวกับประชาชนไทย โดยสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถานบริการทางการแพทย์ทุกแห่ง
38. ท่านจะติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ ได้อย่างไรบ้าง ?
คำแนะนำสำหรับสถานศึกษา สถานประกอบการ และสถานที่ทำงาน
39. สถานศึกษา จะมีส่วนช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคได้อย่างไร ?
สถานศึกษา เป็นแหล่งชุมนุมชน ซึ่งสามารถเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นท่านมีส่วนช่วยอย่างมากในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ ดังนี้
40. สถานประกอบการและสถานที่ทำงาน จะมีส่วนช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคได้อย่างไร ?
สถานประกอบการและสถานที่ทำงาน เป็นแหล่งชุมนุมชน ซึ่งสามารถเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นท่านมีส่วนช่วยอย่างมากในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ ดังนี้
41. หากต้องการปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ จะติดต่อได้ที่ใด ?
แหล่งข้อมูลการติดต่อ เพื่อปรึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
ติดตามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th และหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 3333 และศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 1994 ตลอด 24 ชั่วโมง
42. หน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนจะต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ ?
หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชนในประเทศไทยได้มีการเตรียมพร้อมในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่มาได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แผนการเตรียมความพร้อมที่แท้จริงในเรื่องนี้ จะประกอบไปด้วยแผนเตรียมการเพื่อตอบสนองภายนอกองค์กรรวมกับแผนประคองกิจการภายในองค์กร
แผนเตรียมการเพื่อตอบสนองภายนอกองค์กร เป็นการตอบสนองต่อการระบาดตามบทบาทหน้าที่เพื่อให้การช่วยเหลือผู้อื่น เช่น การป้องกันควบคุมโรคและรักษาพยาบาล การประชาสัมพันธ์ การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น อนึ่งการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่จะมีผลกระทบสูงและมีช่วงระยะเวลาการระบาดยาวนานประมาณ 3-6 เดือน จึงต้องจัดทำแผนประคองกิจการภายในองค์กร ควบคู่ไปกับแผนเตรียมการเพื่อตอบสนองภายนอกองค์กร เพื่อให้การปฏิบัติงานปกติสามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง และบุคลากรในองค์กรปลอดภัย ซึ่งควรดำเนินการในทุกระดับตั้งแต่ระดับประเทศ กระทรวง จังหวัด และ พื้นที่
43. การประคองกิจการภายในองค์กรสำหรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ มีแนวทางการจัดทำแผนอย่างไร ?
แนวทางการจัดทำแผนประคองกิจการ ควรมีความครอบคลุมเนื้อหาทั้ง 6 ด้าน คือ
ด้านที่ 1 การรับมือกับผลกระทบของการระบาดใหญ่ ต่อองค์กร
ด้านที่ 2 การรับมือกับผลกระทบของการระบาดใหญ่ ต่อบุคลากรและลูกค้า
ด้านที่ 3 การกำหนดหลักเกณฑ์ที่ต้องดำเนินการในระหว่างเกิดการระบาดใหญ่
ด้านที่ 4 การจัดสรรทรัพยากรเพื่อการป้องกันบุคลากรและลูกค้า ในระหว่างเกิดการระบาดใหญ่
ด้านที่ 5 การติดต่อสื่อสารและการให้ความรู้แก่บุคลากร
ด้านที่ 6 การประสานงานกับหน่วยงานภายนอก และการช่วยเหลือชุมชน
44. หากหน่วยงานต่างๆ ประสงค์จะทำแผนประคองกิจการภายในองค์กร กรณีเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ จะสามารถสืบค้นข้อมูลได้ที่ใด ?
กรมควบคุมโรค ได้จัดทำ คู่มือการเรียนรู้ด้วยตนเอง เรื่องการจัดทำแผนประคองกิจการภายในองค์กร (Business Continuity Plan : BCP) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ปี พ.ศ. 2552 และสื่อต่างๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ อย่างไรก็ตาม ท่านสามารถดาวน์โหลดต้นฉบับคู่มือดังกล่าว ได้จากเว็บไซต์ของสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ http://beid.ddc.moph.go.th
คำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่
45. กระทรวงสาธารณสุขมีคำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต่างๆ หรือไม่ และจะติดตามหรือสืบค้นได้จากที่ใด
กระทรวงสาธารณสุขได้รวบรวมคำแนะนำและแนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต่างๆ และมีหนังสือแจ้งเวียนผู้เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการเพื่อทราบและถือปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโรคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงคำแนะนำและแนวทางต่างๆ อยู่เสมอให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ท่านสามารถติดตามหรือสืบค้นได้จากเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th หรือสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ http://beid.ddc.moph.go.th
มาตรการการป้องกันควบคุมโรค
46. กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคนี้อย่างไรบ้าง ?
มาตรการสำคัญ ได้แก่ การเร่งรัดและเพิ่มระดับความเข้มข้นการเฝ้าระวังโรคกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบรุนแรง การตรวจคัดกรองผู้เดินทางระหว่างประเทศโดยติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิผู้เดินทาง (Infrared Thermo Scanner) ที่สนามบินนานาชาติ การตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย สำรองเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และอุปกรณ์อื่นที่จำเป็น รวมถึงการสื่อสารความเสี่ยง การให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ และให้บริการข้อมูลแก่ประชาชนผ่านศูนย์ฮ็อตไลน์ จัดทำข่าวแจก จัดการแถลงข่าว และจัดทำคำแนะนำประชาชนเผยแพร่ทางเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนรวมทั้งนานาชาติ เป็นต้น
โดยในช่วงนี้จะเน้น 3 ด้าน ประการแรกได้แก่ การเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจและไม่ตระหนก แต่สามารถป้องกันตัวเองและผู้ใกล้ชิดได้ ประการที่ 2 ให้โรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยส่วนน้อย ที่อาจมีอาการรุนแรง ประการที่ 3 กระทรวงสาธารณสุขจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกจังหวัดมีการเตรียมความพร้อมการป้องกันควบคุมโรคและการดูแลผู้ป่วยที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว ให้จัดซ้อมแผนรับมืออย่างต่อเนื่อง
47. ทั่วโลกมีการดำเนินการและตอบสนองต่อการระบาดของโรคอย่างไร ?
การตอบสนองของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นไปในลักษณะคล้ายคลึงกัน อาจมีข้อแตกต่างในรายละเอียดและความเข้มข้นของมาตรการตามแต่สถานการณ์การระบาดในประเทศนั้นๆ ซึ่งโดยรวม มีมาตรการดังนี้
48. การที่ไทยเริ่มมีการระบาดภายในประเทศ ถือว่า มาตรการป้องกันควบคุมโรคของไทยไม่สามารถสกัดกั้นเชื้อไม่ให้เข้าประเทศได้ ใช่หรือไม่ ?
ลักษณะการแพร่ระบาดในไทยเป็นไปในลักษณะเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีการระบาดอยู่ทั่วโลก กล่าวคือ เริ่มจากการพบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ ต่อมาเริ่มมีการแพร่ในวงจำกัด และแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นไปตามที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกคาดการณ์กันไว้ว่า คงจะหลีกเลี่ยงการระบาดใหญ่ได้ยากในยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งมีการเดินทางติดต่อกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
สำหรับประเทศไทย การตรวจคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าช่วยให้ชะลอการแพร่เชื้อเข้ามาในประเทศได้ระยะหนึ่ง แต่ไม่สามารถค้นหาผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้ทั้งหมด เนื่องจากระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-3 วันในขณะที่การเดินทางจากพื้นที่ติดโรคจนมาถึงเมืองไทยใช้เวลาน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ประกอบกับอาการของโรคไม่รุนแรง ทำให้คนคิดว่าเป็นหวัดธรรมดา หรือไม่อยากเสี่ยงที่จะไปตรวจที่สถานบริการทางการแพทย์เพราะเกรงว่าจะถูกกักตัวและเกิดความเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคในระยะที่ผ่านมา ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2552 ประเทศไทยได้ทำการคัดกรองผู้เดินทางระหว่างประเทศ และยืนหยัดสกัดการแพร่เชื้อในประเทศได้นานกว่า 6 สัปดาห์ ซึ่งนับว่านานกว่าประเทศอื่นๆอีกจำนวนมาก
แต่เมื่อพบการระบาดภายในประเทศและเริ่มมีการขยายวงการระบาดออกไป เราควรตั้งเป้าหมายว่าจะต้องตรวจพบอย่างรวดเร็วและควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงแคบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่หากการระบาดขยายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ เป้าหมายก็ควรเป็นการบรรเทาความสูญเสียทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมให้ได้มากที่สุด
49. ไทยจะมีแผนการปรับยุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่จะเปลี่ยนแปลงไป อย่างไร ?
ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดในประเทศในวงจำกัด เป้าหมายการดำเนินงาน จะ มุ่งควบคุมการระบาดในประเทศให้อยู่ในวงแคบที่สุด โดยสถานการณ์นี้ จะลดความสำคัญของการคัดกรองผู้โดยทางระหว่างประเทศ แต่ให้เน้นหนักเรื่องการค้นหาผู้ป่วยในชุมชน การดูแลรักษาผู้ป่วย การให้สุขศึกษา ประชาสัมพันธ์ เป็นหลัก ทั้งนี้ ควรให้ความสำคัญอย่างมากกับผู้ป่วยที่มีโอกาสแพร่เชื้อให้กับคนหมู่มากได้ เช่น นักเรียน นักท่องเที่ยว ผู้ที่ทำงานในโรงงาน ส่วนกรณีสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง ภายในประเทศ การดำเนินงานจะให้ความสำคัญต่อบรรเทาความรุนแรง และลดผลกระทบของการระบาดในประเทศ
50. ประชาชนจะมั่นใจในมาตรการป้องกันควบคุมโรคของไทยได้หรือไม่ เพียงใด ?
ในการดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคนั้น ประเทศไทยได้นำคำแนะนำองค์การอนามัยโลก ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ มาพิจารณาปรับใช้ตามความเหมาะสมของบริบทในประเทศ เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ โดยมีแผนยุทธศาสตร์ป้องกัน แก้ไข และเตรียมความพร้อมรับปัญหาไข้หวัดนกและการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2551-2553) และ แผนปฏิบัติการแม่บทการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ปี พ.ศ.2552 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 และมีการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ดังนั้น หากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน รวมทั้งประชาชน ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง จึงเชื่อมั่นได้ว่า ประเทศไทย จะสามารถผ่านวิกฤตการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่นี้ไปได้ด้วยดี โดยมีความสูญเสียหรือผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมน้อยที่สุด
ที่มา: สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, มิถุนายน 2552.