วันที่ 5 ส.ค. 52 จำนวนผู้ป่วยยืนยัน 10,043 ราย

- มีจำนวนผู้เสียชีวิต 81 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้ว 16 ราย

สำหรับยุทธศาสตร์และมาตรการที่กระทรวงฯ จะดำเนินการต่อไป ยังคงเน้นหนักเรื่อง “2 ลด 3 เร่ง” ได้แก่

2 ลด
1.ลดการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยเน้นให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์อย่างรวดเร็ว 2.ลดการติดเชื้อและการป่วยให้มากที่สุด โดยกระตุ้นให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่ถูกต้อง ในการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ และไม่แพร่เชื้อสู่คนอื่นขณะป่วย เช่น ล้างมือบ่อย ๆ ใช้หน้ากากอนามัย
3 เร่ง
1.เร่งให้ อสม. กว่า 980,000 คนทั่วประเทศ ออกให้คำแนะนำและค้นหาผู้ป่วยในหมู่บ้านและชุมชนเป็นประจำ
2.เร่งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง โดยร่วมมือเป็นเครือข่ายกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สสส. สปสช.
3.เร่งกระจายการบริหารจัดการสู่ระดับจังหวัด โดยรัฐบาลและ สธ.มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ตรวจราชการ สธ.ติดตาม กำกับ ให้มีการปฏิบัติตามอย่างจริงจัง

          โดยขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงฯ อย่างเคร่งครัด โดยผู้ที่ยังไม่ป่วย ควรรักษาร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ หากไปในที่ชุมนุมชนหนาแน่น ให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการติดเชื้อ และหากมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด กินยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 วันหลังป่วย ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้านไวรัสของกระทรวงฯ  ส่วนกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ คนอ้วน หากมีอาการป่วยไข้หวัด ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอรักษาที่บ้าน และหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ทางสายด่วน 1422 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

 

วันที่ 11 ส.ค. 52 จำนวนผู้ป่วยยืนยัน 11,398 ราย

- มีจำนวนผู้เสียชีวิต 97 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้ว 16 ราย

        จากการวิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ของไทย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าการระบาดในเขตกทม.และปริมณฑลมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆในส่วนภูมิภาค โดยกลุ่มอายุ 6-20 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนแนวโน้มติดเชื้อชะลอตัวลง บ่งชี้ว่ามาตรการคัดกรองเด็กนักเรียนป่วยในโรงเรียนหลายๆ แห่ง เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม และต้องเร่งดำเนินการต่อไป ขณะที่กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มรับจ้างทั่วไปยังมีแนวโน้มติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องขยายการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน โดยเฉพาะการให้ผู้ที่ป่วยหยุดพักอยู่กับบ้านอย่างจริงจัง

        นอกจากนี้ เริ่มมีสัญญาณที่ดีเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น โดยในกลุ่มประชาชนทั่วไป เริ่มมีพฤติกรรมในการป้องกันโรคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการให้หยุดพักงานอยู่กับบ้าน 7 วัน หลายหน่วยงานจัดระบบติดตามให้มีการพักอย่างจริงจัง รวมทั้งจัดระบบควบคุมป้องกันโรค ส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรคให้กับบุคลากรของหน่วยงาน ส่วนในระดับชุมชน เริ่มมีโครงการความร่วมมือของภาคประชาชนในการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ เช่น โครงการชุมชนปลอดภัยร่วมใจควบคุมไข้หวัดใหญ่ให้อยู่มือของ 9 ชุมชน ในแขวงทุ่งพญาไท กทม. ซึ่งอนุกรรมการชุมชนร่วมกับภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ร่วมกันดำเนินการ ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างได้ผล

        สำหรับมาตรการกระจายยาต้านไวรัสลงสู่คลินิกเอกชน สัปดาห์นี้มีคลินิกเข้าร่วมโครงการเพิ่มจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 15 ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง 18 เขต ทำความเข้าใจมาตรการการจ่ายยาต้านไวรัสกับแพทย์เจ้าของคลินิก เพื่อให้เข้าร่วมมือกับโครงการมากขึ้น โดยจะมีการสรุปและติดตามผลในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตามคลินิกบางส่วนได้แสดงความจำนงเป็นเครือข่ายในการคัดกรองผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ และส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ขอความร่วมมือเครือข่ายด้านสุขภาพอื่นๆ เช่น สปสช. สสส. สช. ซึ่งมีสมัชชาสุขภาพเป็นสมาชิกจำนวนมากและทั่วประเทศ เพื่อช่วยกันกระจายข้อมูลความรู้โรคไข้หวัดใหญ่ไปสู่ประชาชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

        ในส่วนของจำนวนผู้เสียชีวิตในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ 1-8 สิงหาคม 2552 ได้รับรายงาน 16 ราย ในจำนวนนี้ 11 ราย เป็นผู้มีโรคประจำตัว ค่าเฉลี่ยวันที่เริ่มป่วยจนถึงได้รับยาต้านไวรัสสั้นลงจาก 7 วัน เหลือ 5-6 วัน โดยผู้เสียชีวิตร้อยละ 50 เริ่มป่วยก่อนที่จะมีนโยบายกระจายยาต้านไวรัสไปสู่คลินิกเอกชน ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งรัดเพื่อลดการเสียชีวิต คือ 4 เรื่องหลัก ได้แก่
1.
มาตรการกระจายยาต้านไวรัส
2.การกระตุ้นให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะไปพบแพทย์เมื่ออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน
3.การส่งเสริมให้แพทย์ยึดแนวทางการรักษาตามคู่มือที่คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกำหนด
4.จัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแพทย์ที่รักษาผู้ป่วย ตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่าจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้ภายใน 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า

วันที่ 19 ส.ค. 52 จำนวนผู้ป่วยยืนยัน 13,019 ราย

- มีจำนวนผู้เสียชีวิต 111 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้ว 14 ราย เป็นชาย 7 ราย หญิง 7 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 85 มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคปอดหรือสูบบุหรี่จัด ภาวะอ้วน โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคระบบเลือดและโรคเบาหวานรวมไทยมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 111 ราย และคาดว่ามีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 5 แสนราย

        สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯของไทย ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา พบว่ามีแนวโน้มชะลอตัวในกทม.และปริมณฑล แต่ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในต่างจังหวัดซึ่งกระจายทุกภาคใน 25 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยเกินกว่า 100 รายขึ้นไป ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร ราชบุรี นครสวรรค์ เชียงใหม่ ลำพูน พิษณุโลก กำแพงเพชร ชลบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช

        ซึ่งผู้ว่าราชการและสาธารณสุขจังหวัดแต่ละจังหวัดได้ร่วมกันเฝ้าระวังและควบคุมโรคในพื้นที่ นอกจากนี้การแพร่ระบาดในกลุ่มอายุ 11 - 24 ปี โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เริ่มชะลอตัว ส่วนกลุ่มอายุอื่นๆเริ่มทรงตัว ซึ่งการชะลอตัวการระบาด ทั้งพื้นที่กทม.และปริมณฑล มีปัจจัยจากประชาชนมีความระมัดระวังป้องกันตัวเองมากขึ้นและภาครัฐและเอกชนช่วยกันให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชน “ส่วนแนวโน้มการระบาดสำนักระบาดวิทยาคาดการณ์คาดการณ์ว่า ในช่วง 2 เดือนข้างหน้าซึ่งเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ประกอบกับเป็นช่วงของการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลซึ่งเป็นประจำทุกปีจึงขอย้ำเตือนประชาชนอย่าละเลยการป้องกันตัว ขอให้ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆและคาดหน้ากากอนามัยเมื่อไปอยู่ในที่มีคนแออัด”
สำหรับการติดตามเฝ้าระวังการดื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สุ่มตัวอย่างเชื้อจากกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ และกลุ่มที่ยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นำมาตรวจด้วยวิธีทางพันธุกรรม (Genotyping testing) เพื่อหายีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการดื้อยาและวิธียืนยันทางชีววิทยา (Phenotypic testing) เพื่อทดสอบการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์และยาซานามิเวียร์ตลอด 4 เดือนมานี้จนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ยังไม่พบปัญหาเชื้อดื้อยาหรือเชื้อกลายพันธุ์แต่อย่างใด

        อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับชาติและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทย์หลายแห่ง ได้ทบทวนตรวจสอบผลการเฝ้าระวังการดื้อยาซึ่งไม่พบว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ดื้อต่อยาโอเชลทามีเวียร์เช่นกัน โดยในขณะนี้มีรายงานการกระจายยาต้านไวรัสไปสู่คลินิกเอกชนทั่วประเทศแล้วจำนวน 60 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 80 มีคลินิกที่เข้าร่วมโครงการ 571 แห่ง จาก 4,394 แห่ง หรือประมาณร้อยละ 13 
ส่วนการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งพบว่ามีปัญหาการเก็บเกี่ยววัคซีนจากการเพาะเชื้อไวรัสในไข่ไก่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายนั้นไม่เห็นว่ามีปัญหาสำคัญอะไร ซึ่งปัญหาทางเทคนิคก็ต้องปรับแก้กันไป โดยในวันที่ 20 ส.ค.ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกสำนักงานใหญ่จะประชุมวีดีโอผ่านทางไกลเทเลคอนเฟอร์เรนซ์กับผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยด้านการผลิตวัคซีนอาทิองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้คุยกันเป็นระยะอยู่แล้วเพื่อหารือและปรับปรุงความคืบหน้าในการวิจัยดังกล่าว

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ 19 สิงหาคม 2552

วันที่ 24 ส.ค. 52 จำนวนผู้ป่วยยืนยัน 14,976 ราย

- มีจำนวนผู้เสียชีวิต 119 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้ว 8 ราย

             จากการวิเคราะห์สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าการระบาดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และขยายตัวไปสู่ต่างจังหวัด แนวโน้มกระจายลงสู่เขตชนบท โดยพบผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่พบมากขึ้นในกลุ่มวัยแรงงานอายุ 31-45 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างและเกษตรกร และพบมีการแพร่ระบาดในสถานที่ที่มีคนอยู่จำนวนมากหรือมีกิจกรรมที่ต้องอยู่ร่วมกัน เช่น โรงเรียน เรือนจำ ค่ายเยาวชน เป็นต้น ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกจังหวัดคงมาตรการ 2 ลด คือ ลดการติดเชื้อและป่วยให้มากที่สุด ลดการเสียชีวิตให้มากที่สุด และ 3 เร่ง คือ เร่งให้อสม.ค้นหาผู้ป่วยทุกชุมชน เร่งเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเอง และเร่งรัดการบริหารจัดการความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น 

           ทั้งนี้คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีพลตรีสนั่น ขจรประศาสตร์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการประชุมเมื่อวานนี้ และเห็นว่าสถานการณ์ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่องเป็นกลุ่มๆ จึงให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนคงมาตรการต่างๆ ที่ทำอยู่ต่อไปอย่างเข้มงวด ทั้งการคัดกรองนักเรียนในโรงเรียน การให้อสม.ค้นหาผู้ป่วยในชุมชน การพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล และเพิ่มการเข้าถึงยาต้านไวรัส รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ 

            ขณะเดียวกันให้หน่วยงานต่างๆ ดูแลสถานที่ในความรับผิดชอบที่เป็นจุดเสี่ยงเกิดการแพร่ระบาด เช่น สถานเลี้ยงเด็กและคนชรา โรงเรียนปริยัติธรรม เพื่อชะลอการระบาดของโรค และลดการเสียชีวิตของประชาชน และที่ประชุมได้ขอความร่วมมือสถาบันศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขทุกแห่ง จัดกิจกรรมให้นักศึกษาแพทย์ พยาบาลและสาธารณสุข ออกค่ายเป็นกองทัพสุขภาพ รณรงค์ให้ความรู้โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ และเป็นผู้นำสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องแก่ประชาชน เช่น การล้างมือ การใช้หน้ากากอนามัย เป็นต้น ช่วงปิดภาคการศึกษา โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนประสานงาน 

ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข

ข้อมูลล่าสุด: สิงหาคม 2552