วันที่ 2 ก.ย. 52 ไม่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยยืนยัน

- มีจำนวนผู้เสียชีวิต 130 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้ว 11 ราย

         เป็นชาย 5 ราย หญิง 6 ราย ร้อยละ 70 อายุอยู่ระหว่าง 31- 40 ปี และอยู่ในกลุ่มเสี่ยง สถานการณ์แพร่ระบาดของโรค พบว่าการระบาดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และขยายตัวไปสู่ต่างจังหวัด แนวโน้มกระจายลงสู่เขตชนบท จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด

        จากการประเมินผลผู้ป่วยไข้หวัดทุกประเภทที่เข้ารับการรักษาตัวที่จุดตรวจคัดกรองของโรงพยาบาลทั่วประเทศพบว่าจำนวนลดลงจาก 18,000 คนต่อวัน ในเดือน ก.ค. 2552 เหลือ 9,000 คนต่อวันในเดือน ส.ค. 2552 โดยร้อยละ 52 ของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในชนบท

        ในวันที่ 9 ก.ย. 2552 จะหารือกับสภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้า เพื่อกำหนดแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากถึง 37 ล้านคน ขณะที่เริ่มพบผู้ป่วยในแถบภาคกลาง โดยจะนำร่องที่โรงงานในแถบจังหวัดสมุทรสาครและขยายไปยังโรงงานอื่น ๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอย้ำเตือนให้ประชาชนอย่าละเลยที่จะป้องกันการเจ็บป่วย เนื่องจากทุกคนยังมีความเสี่ยงติดเชื้อเท่ากันเพราะยังไม่มีภูมิต้านทานโรคนี้ ขอให้รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารโดยเฉพาะผัก ผลไม้ที่ให้วิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง มะเขือเทศ มะขามป้อม เป็นต้น ซึ่งวิตามินซีจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค พักผ่อนให้เพียงพอ ล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ หากเข้าไปในที่ชุมชนหนาแน่นควรสวมหน้ากากอนามัย

        สำหรับผู้ที่มีไข้ให้หยุดอยู่บ้าน 7 วัน หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้อื่น สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คนอ้วน ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็ก อายุต่ำกว่า 2 ปี และหญิงมีครรภ์ หากมีไข้สูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซึ่งเป็นอาการสำคัญของไข้หวัดใหญ่ ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที ส่วนผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว หากมีอาการดังกล่าว และไข้ยังไม่ลด อาการของโรคไม่ดีขึ้น ภายใน 48 ชั่วโมง ขอให้ไปพบแพทย์ทันทีเช่นเดียวกัน

วันที่ 9 ก.ย. 52 ไม่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยยืนยัน

- มีจำนวนผู้เสียชีวิต 142 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้ว 12 ราย


          เป็นชาย 3 ราย หญิง 9 ราย แบ่งเป็นผู้เสียชีวิตในภาคอีสาน 7 ราย ภาคใต้ 3 ราย ภาคเหนือ 1 ราย ภาคตะวันออก 1 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสม 142 ราย ขณะนี้สถานการณ์จะทรงตัว 3-4 สัปดาห์และค่อยๆ ลดลง ส่วนแนวโน้มการแพร่ระบาดในประเทศไทยยังกระจายออกไปสู่ทั่วประเทศต่อเนื่อง โดยมีผู้ติดเชื้อสูงสุดในช่วงปลายเดือน ก.ค.
          สำหรับจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงในภาคอีสาน ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ภาคเหนือได้แก่ เชียงใหม่ กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร ภาคตะวันออกได้แก่ ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี ภาคกลางได้แก่ ลพบุรี สระบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ภาคใต้ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ภูเก็ต
       

      โดยในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. ซึ่งเป็นช่วงปลายฝน ต้นหนาว ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดนก ซึ่งหลายพื้นที่กลายเป็นโรคประจำถิ่น สำนักระบาดวิทยาจึงได้ปรับระบบการรายงานผู้ป่วยใหม่ โดยให้ทุกพื้นที่รายงานทั้งผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และปอดบวม ทุกสัปดาห์ แม้จะไม่มีผู้ป่วยก็ตาม เพื่อให้ติดตามสถานการณ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป
       
      ถึงแม้ว่าสถานการณ์ในขณะนี้ดูเหมือนประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤตของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 แล้ว เนื่องจากพบว่าอัตราการระบาดเริ่มชะลอตัวลง แต่ความจริงแล้วองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีประกาศเตือนไปยังประเทศทั่วโลกที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ประจำปี คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จำนวนมาก และคาดว่าในสหรัฐอเมริกาอาจมีผู้เสียชีวิตถึง 90,000 ราย สำหรับประเทศไทยนักระบาดวิทยาคาดว่า มีผู้ติดเชื้อแล้ว 2 ล้านคน มีบางส่วนที่หายป่วยแล้ว และบางส่วนยังรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล ขณะที่คนอีก 62 ล้านคนยังไม่มีภูมิคุ้มกัน และยังตรวจพบผู้ป่วยใหม่ทุกวัน ทำให้ยืนยันว่ายังมีการระบาดอยู่ในประเทศไทย
       
      โดยมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาด ได้แก่่่ มาตรการเดิมที่ให้ผู้ป่วย้หยุดอยู่บ้าน โดยจะต้องไม่ถือเป็นวันลา และหากมีโรคประจำตัวให้รีบพบแพทย์เพื่อให้ได้รับยาทันที ส่วนประชาชนทั่วไป หากป่วยและไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ควรไปพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว จะมีนักท่องเที่ยวชาวยุโรป อเมริกา จะเข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเพิ่มการเฝ้าระวัง
       
      นอกจากนี้ยังไ้ด้มีการแต่งตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและไวรัสวิทยา จากหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ โดยมี ศ. นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นที่ปรึกษา เพื่อติดตามประเมินสถานการณ์การระบาดระลอกที่ 2 ของประเทศอย่างใกล้ชิด และเตรียมการรองรับตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น หอบหืด เบาหวาน โรคหัวใจ ภูมิต้านทานต่ำ และเตรียมพร้อมในการดูแลผู้ป่วยอาการรุนแรงที่หากเกิดการระบาดจริงจะมีมากขึ้น รวมทั้งเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลง สายพันธุ์ของเชื้อและการดื้อยา

วันที่ 16 ก.ย. 52 ไม่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยยืนยัน

- มีจำนวนผู้เสียชีวิต 153 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้ว 11 ราย

          สำหรับทิศทางการแพร่ระบาดของโรคในประเทศไทยซึ่งมีการกระจายไปในพื้นที่จังหวัดที่มีขนาดเล็กเพิ่มขึ้นจึงได้มีการกำชับให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งโดยเฉพาะสถานีอนามัยให้การดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ หากพบผู้ที่มีอาการของไข้หวัด ขอให้สันนิษฐานว่า เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ไว้ก่อนและส่งตัวพบแพทย์เพื่อดูแลรักษาโดยเร็ว

           โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบายให้แพทย์ที่รักษาให้ยาผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายทุกรายโดยไม่ต้องรอผลแล็ปเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และเตรียมจัดทีมผู้เชี่ยวชาญออกติดตาม พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือในจังหวัดที่พบปัญหา

         อีกทั้งขณะนี้ได้กระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้โรงพยาบาลทุกจังหวัดและคลินิกที่ร่วมโครงการเพียงพอแล้วและให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯกำกับการทำงานในพื้นที่ด้วยนอกจากนี้ขอความร่วมมือร้านขายยาหากพบผู้ป่วยเข้าข่ายให้แนะนำไปรักษาตัวในโรงพยาบาลทันที เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดและสาธารณสุขจังหวัดในการสำรวจการจัดงานและจัดเตรียมทีมให้ความรู้คำแนะนำประชาชน อาทิการล้างมือการคาดหน้ากากอนามัย และหากป่วยเป็นหวัด ก็ไม่ควรมาร่วมกิจกรรม และให้ไปพบแพทย์เมื่อมีอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมง

วันที่ 23 ก.ย. 52 ไม่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยยืนยัน

- มีจำนวนผู้เสียชีวิต 160 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้ว 7 ราย

          เป็นชาย 5 ราย หญิง 2 ราย ซึ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เสียชีวิตมีอัตราลดลงจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้น 11 ราย โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 7 ราย อยู่ใน 6 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ 2 ราย ขอนแก่น เพชรบูรณ์ สงขลา พิษณุโลก สุโขทัย จังหวัดละ 1 ราย โดยเป็นกลุ่มเสี่ยงมีโรคประจำตัว 6 ราย

วันที่ 30 ก.ย. 52 ไม่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยยืนยัน

- มีจำนวนผู้เสียชีวิต 165 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้ว 5 ราย

        ผู้เสียชีวิตจำนวน 5 ราย อยู่ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสกลนคร 2 ราย มหาสารคาม สุรินทร์ และอุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย

ที่มา: สำนักข่าวไทย
ข้อมูลล่าสุด: 12.00 น. วันที่ 30 กันยายน 2552