โดย กลุ่มวิจัย LHAASO
(Aharonian, F., et al. 2021, Phys. Rev. Lett., 126, 241103)
ความสำคัญ: พัลซาร์ คือดาวนิวตรอนที่หมุนอย่างเร็วนับร้อยถึงพันรอบต่อวินาที สนามแม่เหล็กความเข้มมหาศาลและพลาสมาร้อนจัดรอบดาวนิวตรอนสามารถสร้างรังสีแกมมาพลังงานสูงที่เราสามารถตรวจจับได้จากโลก อย่างไรก็ตามเรายังไม่เข้าใจกลไกการเปล่งรังสีแกมมาของพัลซาร์มากนัก โครงการวิจัย Large High Altitude Air Shower Observatory (LHAASO) ที่มณฑลเสฉวน ประเทศจีน ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่สามารถตรวจจับรังสีแกมมาพลังงานสูงมาก และพบการเปล่งรังสีแกมมาพลังงานมากกว่า 25 TeV แบบกระจายตัวรอบพัลซาร์ PSR J0622 + 3749 ซึ่งมีอายุประมาณ 2 แสนปี แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอยู่ห่างจากโลกเพียงใด ย่านพลังงานนี้เป็นช่วงที่สูงอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน การศึกษานี้จะช่วยให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพัลซาร์และกลไกลการเปล่งรังสีพลังงานสูงในจักรวาล
ผลที่ได้: พัลซาร์ PSR J0622 + 3749 ถูกพบครั้งแรกด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีแกมมาเฟอร์มี และไม่ถูกพบในช่วงคลื่นอื่นเลย จน LHAASO มาพบในช่วงรังสีแกมมาพลังงานสูงมากในงานชิ้นนี้ ตำแหน่งของพัลซาร์จากข้อมูล LHAASO คือ RA = 95.47° ± 0.11°, DEC = 37.92° ± 0.09° โดยมีขนาดการกระจายตัว 0.40° ± 0.07° มีลักษณะของพลังงานเป็นรูปแบบเลขยกกำลังโดยมีดัชนีประมาณ -2.92 ที่พลังงานสูงกว่า 25 TeV ผลนี้สอดคล้องกับแบบจำลองของการเปล่งรังสีเนื่องจากอิเล็กตรอนพลังงานสูงมากจากพื้นผิวพัลซาร์แพร่ผ่านเข้าสู่สสารโดยรอบและเกิดการกระเจิงกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้อนุภาคคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานต่ำได้รับพลังงานกลายเป็นรังสีแกมมา แบบจำลองนี้บ่งชี้ว่ามัธยฐานของพลังงานอิเล็กตรอนมีค่าประมาณ 160 TeV และค่าสัมประสิทธิ์การแพร่สอดคล้องกับค่าที่ได้จากพัลซาร์อื่น ๆ บางดวง