โดย กลุ่มวิจัย LHAASO
(Cao, Z., et al. 2021, Nature, 594, 33)
ความสำคัญ: รังสีคอสมิก คืออนุภาคพลังงานสูงในอวกาศ เราพบว่าอนุภาครังสีคอสมิกภายในกาแลกซีทางช้างเผือกของเราสามารถมีพลังงานสูงได้ถึงมากกว่าระดับพันล้านล้านอิเล็กตรอนโวลท์ (1015 eV) ซึ่งมากกว่าเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่ที่สุดของมนุษย์นับร้อยเท่า เนื่องจากรังสีคอสมิกส่วนใหญ่เป็นอนุภาคประจุซึ่งถูกเบี่ยงเบนด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ไม่ได้เดินทางมายังโลกเป็นเส้นตรง ทำให้เราไม่สามารถระบุแหล่งกำเนิดของอนุภาคพลังงานสูงมากเหล่านี้ได้ชัดเจน แต่เป็นที่คาดกันว่าแหล่งกำเนิดเหล่านี้อาจจะเป็นดาวนิวตรอน ซากการระเบิดของดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ หรือกลุ่มดาวขนาดยักษ์ ซึ่งตามทฤษฎี วัตถุเหล่านี้จะเปล่งรังสีแกมมาที่พลังงานมากกว่าร้อยล้านล้านอิเล็กตรอนโวลท์ (1014 eV) รังสีแกมมาเป็นอนุภาคของแสงซึ่งไม่ถูกเบี่ยงเบนด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า อุปกรณ์ Large High Altitude Air Shower Observatory (LHAASO) ที่มณฑลเสฉวน ประเทศจีน ซึ่งเป็นเครื่องวัดภาคพื้นดินที่กระจายตัวอยู่บนพื้นที่ประมาณ 1.3 ตารางกิโลเมตร และมีความสามารถในการวัดรังสีแกมมาที่พลังงานสูงกว่าอุปกรณ์อื่นเท่าที่เคยมีมา ได้ทำการศึกษารังสีแกมมาที่ระดับพลังงานมากกว่า 1014 eV จากท้องฟ้า เพื่อค้นหาแหล่งกำเนิดรังสีแกมมานี้ ที่คาดว่าก็จะเป็นแหล่งกำเนิดรังสีคอสมิกพลังงานสูงระดับ 1015 eV เช่นกัน
ผลที่ได้: LHAASO รายงานแหล่งกำเนิดรังสีแกมมาพลังงานสูงยิ่งยวด (มากกว่า 1014 eV) จำนวน 12 แหล่ง โดยพบอนุภาคแสงรังสีแกมมามากกว่า 530 อนุภาค มีพลังงานสูงที่สุดถึง 1.4 x 1015 eV ซึ่งเป็นพลังงานมหาศาลอย่างที่มนุษย์ไม่เคยพบมาก่อน บางแหล่งกำเนิดนี้ก็เป็นที่รู้จักอย่างดีมาก่อนหน้า เช่น เนบิวลารูปปู แต่บางแหล่งเราก็ไม่เคยพบมาก่อน เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะทำการศึกษาแหล่งกำเนิดเหล่านี้เชิงลึกต่อไป